Select Page
Home 9 วิสัยทัศน์ และพันธกิจ

วิสัยทัศน์และพันธกิจ

วิสัยทัศน์ (Vision)

เป็นสถาบันที่สร้างผลิตผู้นำประเทศให้มีศักยภาพทางวิชาการและวิชาชีพชั้นสูงให้พร้อมรับมือท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงนวัตกรรมที่ก้าวกระโดดอย่างรุนแรง อีกทั้งเป็นผู้นำความคิดให้กับสังคมอย่างมีคุณธรรมและความรับผิดชอบ

ปรัชญา

สาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการเป็นแนวทางการศึกษาที่แพร่หลายมาอย่างยาวนานโดยปรัชญาการศึกษาของการบริหารจัดการโดยเฉพาะในสาขาวิชาการบริหารรัฐกิจหรือรัฐประศาสนศาสตร์ที่มุ่งเน้นการผลิตนักศึกษาที่จบออกไปเพื่อการรับราชการทั่วไป ในระดบกลางและล่างเป็นหลักส่วนการศึกษาในระดบปริญญาโท และระดับปริญญาเอกเน้นความเป็นเลิศทางวิชาการและความเป็นเลิศในทางวิชาชีพในการเป็นผู้นำในหน่วยงาน ฉะนั้นในหลักสูตรการบริหารแห่งรัฐจึงมุ่งเน้นการไปดำรงตำแหน่งหัวหน้าหน่วยงาน หรือผู้บริหาร หรือผู้นำรัฐโดยเฉพาะงานราชการและงานทางการเมืองเนื่องจากประเทศไทยยังคงประสบปัญหาวิกฤติผู้นำที่มีอยู่อย่างจำกัดและพร้อมใช้งาน โดยปรัชญาของหลักสูตรจะดำเนินการผลิตบัณฑิตใน 2 ลักษณะตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการเรื่องเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรบัณฑิตศึกษา พ.ศ. 2558 ได้แก่

ประการแรก การผลิตบัณฑิตในระดับดุษฎีบัณฑิตแบบ 2.1 ผู้เข้าศึกษาที่สำเร็จปริญญาโทจะต้องทำวิทยานิพนธ์จำนวน 36 หน่วยกิต และศึกษารายวิชาอีก 27 หน่วยกิต รวม 63 หน่วยกิต ทั้งนี้ต้องเรียนวิชาบังคับและวิชาเฉพาะตามที่หลักสูตรกำหนดจำนวน 24 หน่วยกิต ที่เหลือให้ศึกษาในรายวิชาเลือกให้ครบจำนวน 27 หน่วยกิต (หรืออีก 1 วิชา)

ประการที่สอง การผลิตบัณฑิตในระดับดุษฎีบัณฑิตแบบ 2.2 ผู้เข้าศึกษาที่สำเร็จปริญญาตรีจะต้องทำวิทยานิพนธ์จำนวน 48 หน่วยกิต และศึกษารายวิชาอีก 36 หน่วยกิต รวม 84 หน่วยกิต ทั้งนี้ต้องเรียนวิชาบังคับและวิชาเฉพาะตามที่หลักสูตรกำหนดจำนวน 24 หน่วยกิต ที่เหลือให้ศึกษาในวิชาเลือกให้ครบจำนวน 36 หน่วยกิต (หรืออีก 4 วิชา)

ผลผลิตของนักศึกษาในระดับปริญญาเอกที่จบออกไปเพื่อให้มีทักษะในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการบริหารจัดการแห่งรัฐท่ามกลางโลกที่ไร้พรมแดนในปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงนวัตกรรมที่ก้าวกระโดดอย่างรวดเร็วนำมาซึ่งความจำเป็นในการแสวงหาองค์ความรู้ใหม่ๆ เพื่อให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของบริบทที่หลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น ความรู้และความเชี่ยวชาญอย่างลึกซึ้งถ่องแท้และกว้างขวาง จึงเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งต่อความอยู่รอดและกระบวนการแข่งขันกับนานาประเทศควบคู่ไปกับการสร้างภูมิต้านทานจากผลกระทบต่างๆ โดยเฉพาะนวัตกรรมทางการบริหารจัดการเพื่อนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาชาติอย่างยั่งยืน

ในการนี้จำเป็นต้องริเริ่มให้มีหลักสูตรซึ่งมีเนื้อหาที่สนองต่อการบูรณาการความหลากหลายในวงการบริหารจัดการอันเนื่องมาจากความเป็นสังคมพหุนิยม ทั้งในด้านความเป็นอยู่และในด้านวิชาการในปัจจุบันที่ทำให้การแสวงหาสภาพความจริงของการบริหารแห่งรัฐในปัจจุบัน แตกต่างจากปรากฏการณ์ทางการบริหารในอดีต ที่ผู้ศึกษาจำเป็นต้องมีองค์ความรู้ที่หลากหลายและรอบด้านซึ่งทำให้ผู้ศึกษาต้องเข้าใจและเข้าถึงกรรมวิธีในการแสวงหาความรู้ที่ลึกซึ้ง ทฤษฎีการบริหารที่ทันสมัย การแปลความหมายปรากฏการณ์ทางการบริหารที่เคลือบด้วยสิ่งลวง วิกฤตการณ์และการบริหารจัดการระหว่างประเทศจากลักษณะดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ทั้งในแง่ ผู้ศึกษาและหลักสูตรในการผลิตนักศึกษาที่เป็นผู้นำแห่งรัฐและองค์การขนาดใหญ่ซึ่งองค์ความรู้ต้องมีคุณค่ามากพอ ต่อการตัดสินใจและสอดคล้องกับสถานการณ์การบริหารแห่งรัฐที่มีมิติซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

ความสำคัญ

ประเทศไทยมักประสบวิกฤตการณ์อย่างคาดไม่ถึงเช่น สถานการณ์จากโรคโควิด 19 การตัด GSP ของสหรัฐฯ หรือการประท้วงเพื่อการปฏิรูปการเมืองการปกครอง ทำให้จำเป็นต้องมีหลักสูตรเพื่อผลิตผู้นำประเทศและผู้นำองค์การที่สามารถฝ่าฟันวิกฤตการณ์ รุนแรงดังกล่าว และรวมทั้งการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นประจำด้วยยุทธศาสตร์ใหม่ๆ

พันธกิจ

สร้างผู้นำสังคมและรัฐ สามารถเข้าใจ วิเคราะห์ สังเคราะห์ วิพากษ์ ปัญหาทั้งทางการเมืองการปกครอง การบริหารจัดการเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีทางการสื่อสารเพื่อหาแนวทางแก้ไขที่เหมาะสมให้กับรัฐและสังคมที่กำลังอยู่ในสภาวะการเปลี่ยนแปลงนวัตกรรมที่ก้าวกระโดดอย่างรุนแรง

ให้มีความเป็นเลิศทางวิชาการและวิชาชีพในด้านการบริหารแห่งรัฐ ทั้งมีจริยธรรมและคุณธรรมสามารถนำสังคมไปสู่การพัฒนาทั้งในระดับชาติและระดับสากล

ให้มีความสามารถและรอบรู้ที่จะพัฒนานโยบาย การบริหาร การวางยุทธศาสตร์ โดยเฉพาะความสามารถในการหาคำตอบของปัญหาที่มี รวมทั้งการเรียนการสอนและการค้นคว้าวิจัยในทุกระดับของการบริหารทุกประเภททั้งในเชิงลุ่มลึก โดยรอบและกว้างขวาง

พัฒนาศักยภาพของมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิตให้เป็นผู้มีองค์ความรู้อย่างลึกซึ้ง เท่าทันสังคม รวมถึงยังสามารถพัฒนาองค์ความรู้ทั้งในระดับชาติและนานาชาติภายใต้ความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ค่านิยมหลัก

อัตลักษณ์วิทยาลัย

ความหมายของสีสัญลักษณ์

สีดำ เป็นสื่อตัวแทนความหมายของความมีรักแท้ (True Love) วิทยาลัยการบริหารแห่งรัฐ มทร.พระนคร ก่อตั้งขึ้นจากความรักในชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ที่เป็นเสาหลักค้ำจุนชาติไทยไว้ได้ ความรักในชาตินี้จึงเป็นความรักที่หนักแน่นของวิทยาลัยแห่งนี้ ดั่งสีดำที่หนักแน่นล้ำลึกเหนือแม่สีและสีใดๆจะมาเปลี่ยนแปลงได้

สีม่วง เป็นสีแทนสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร

สีทอง เป็นสื่อตัวแทนแห่งความมั่งคั่งมีคุณค่ายิ่ง เปรียบเช่นองค์ความรู้อันเป็นสหวิทยาการแตกต่างจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ ผสมผสานให้กลมกลืนเหมาะสมเท่าทันแก่กาล ในอันที่จะสร้างผู้นำแห่งรัฐรุ่นใหม่ของชาติ รวมถึงคุณภาพคณาจารย์ระดับศาสตราจารย์และรองศาสตราจารย์ผู้สอนล้วนเป็นชั้นแนวหน้าของประเทศ ที่ทรงคุณค่าดังเช่นทองคำ